วันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2558

สูตรแกงเทโพผักบุ้งหมูสามชั้น อร่อยเป๊ะเวอร์ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

แกงเทโพ” สูตรอาหารไทย อีกเมนูอาหารภาคกลาง เป็นแกงที่จัดอยู่ในประเภทแกงคั่วใส่กะทิ มีรสชาติเปรี้ยวกับหวานเท่ากัน ตามด้วยเค็มและเผ็ดเล็กน้อย มีกลิ่นหอมๆเฉพาะตัวด้วยใส่ลูกมะกรูดลงไป นอกจากความอร่อยของแกงเทโพที่ไม่เป็นสองลองใครแล้ว ประโยชน์ที่ได้รับจากผักบุ้งและเครื่องแกงก็มากมายเช่นกัน หากเป็นสูตรแกงเทโพโบราณ เขาจะนิยมโขลก ปลาแห้ง ปลากรอบ หรือกุ้งแห้ง ใส่ลงไปในพริกแกงด้วยครับ เป็นเสน่ห์ปลายจวักที่จะช่วยทำให้น้ำแกงที่ได้มีความเข้มข้นมีรสชาติอร่อยๆ ยิ่งขึ้น สำหรับวันนี้ zabwer.com ก็ได้นำสูตรอาหารและเคล็ดลับดีๆมาฝากทุกท่านเช่นเคยครับ…ด้วยสูตรแกงเทโพผักบุ้งหมูสามชั้นสูตรอร่อบเป๊ะเวอร์ ห้ามพลาดครับ…ลองได้รับประทานแกงเทโพถ้วยนี้พร้อมข้าวสวยร้อนๆ แนมด้วยไข่เค็ม ปลาสลิดเค็ม หรือปลาช่อนแดดเดียวทอด อร่อยจนแทบคิดไม่ออกเลยว่า พรุ่งนี้จะทานข้าวกับอะไรได้อร่อยเท่านี้อีก > <


เคยสงสัยไหมครับ!…ว่าทำไมแกงเทโพที่พบเจอทั่วไปถึงต้องใส่แต่หมูสามชั้น...แล้วทำไมไม่ชื่อแกงผักบุ้งซะเลย!!...น่าจะเหมาะกว่า 55+...
และจากที่ผมลองนั่งค้นในอากรู๋ก็พบที่มาที่ไปของชื่อแกงเทโพนี้ครับ…แรกเริ่มเดิมที เชื่อว่าเป็นแกงกะทิที่ใช้ปลาเทโพมาทำ นั่นคือที่มาที่ไปของชื่อแกงเทโพ แต่อาจจะเนื่องด้วยในปัจจุบันนิยม ย้ำนะครับนิยมหันมาใช้หมูสามชั้นแทน ทำให้แกงเทโพที่ทานจะมีความกรุบๆ ปนนุ่มๆของหมูสามชั้น ตัวหมูสามชั้นเองยังทำให้แกงเทโพมีรสชาติมันๆ จากหมูสมชั้นอีกด้วย นี่เองที่ทำให้แกงเทโพมีรสชาติอร่อยๆเป็นที่ชื่นชอบของหลายๆ คน…ยิ่งในปัจจุบันก็เริ่มออกแนวๆ ใช้เนื้อสัตว์หลากชนิดมาประยุกต์ใช้แทนหมูสามชั้น ทำให้เราเห็นแกงเทโพหลากหลายเมนูแล้ว เช่น แกงเทโพปลาอินทรีย์เค็ม เมนูแกงเทโพปลาอินทรีย์เค็มนี่จะมีรสชาติอร่อยๆ ของปลาเค็มตัดกับรสชาติเฉพาะๆ ของแกงเทโพนี่อร่อยยิ่งนัก แกงเทโพกุ้ง หรือเราจะประยุกต์ทำแกงเทโพปลาสลิดทอดกรอบ ปลาสลิดออกเค็มๆ มันๆ มันน่าจะทำให้แกงเทโพมีรสชาติอร่อยๆ ดีนะ…ว่าแล้วคราวหน้าต้องลองทำดูบ้างแล้วล่ะ อิอิ

ส่วนผสมแกงเทโพ
  1. หมูสามชั้นหั่นเป็นชิ้นๆ 300 กรัม
  2. ผักบุ้งน้ำ 400 กรัม (น้ำหนักเฉพาะส่วนที่ใช้ หรือใส่เพิ่มได้อีก…ปริมาณตามชอบ)
  3. กะทิสำเร็จรูป (ขนาด 500 มล) 1 กล่อง
  4. ผลมะกรูด 2 ผล
  5. ใบมะกรูดฉีกเป้นชิ้นเล็กๆ (1ใบ ได้ซัก 2- 3 ส่วน) แช่น้ำไว้ 4-5 ใบ
  6. มะขามเปียก 10 ฝัก (หรือประมาณ 1 กำมือ)
  7. น้ำตาลปี๊บ
  8. น้ำปลาดี 2 ช้อนโต๊ะ
เครื่องปรุงพริกแกงสำหรับแกงเทโพ
  1. พริกแห้ง 7-10 เม็ด
  2. กระเทียมปอกเปลือก 5-7 กลีบ
  3. หอมแดงปอกเปลือก 3-5 หัว
  4. กะปิอย่างดี ½ ช้อนโต๊ะ 
  5. ข่าซอยละเอียด 1 ช้อนชา
  6. ผิวมะกรูดซอยละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  7. ตะไคร้ซอยละเอียด 1 ช้อนโต๊ะ
  8. พริกไทย 5 เม็ด
  9. ปลาย่างแกะเอาแต่เนื้อป่นละเอียด 1 ช้อนโต๊ะพูนๆ
  10. เกลือ 1 หยิบมือ
วิธีทำ
1. เตรียมเครื่องปรุงต่างๆสำหรับทำพริกแกงเทโพให้พร้อม ดังนี้
  • นำพริกแห้งมาเด็ดก้านทิ้ง ผ่ากลางตามความยาวของเม็ดแคะเอาเมล็ดออกให้หมด แล้วแช่น้ำให้นิ่ม
  • นำกระเทียม และหอมแดง มาปอกเปลือกให้เกลี้ยง
  • นำข่าและผิวมะกรูด ซอยให้ละเอียด
  • ปลาย่างแกะเอาแต่เนื้อ และป่นให้ละเอียด
2. เตรียมทำน้ำพริก…เริ่มด้วยใช้ครกโขลกเกลือ ผิวมะกรูดและข่า เข้าด้วยกันให้ละเอียด แล้วใส่หอมกระเทียมลงไปบุบให้พอแหลก ต่อไปให้ตักเครื่องแกงจากครกทั้งหมดไปใส่เครื่องปั่น สงพริกแห้งขึ้นจากน้ำด้วยมือ บีบให้สะเด็ดน้ำ หั่นหยาบๆใส่ลงในเครื่องปั่น พร้อมกับปลาป่น…แล้วเติมกะทิสำเร็จรูปตามลงไป 3 ทัพพี…น้ำสุก 2 ทัพพี…แล้วนำไปปั่นให้ละเอียดแบบน้ำผลไม้ ก็จะได้น้ำพริกแกงเรียบร้อย พักไว้

3. เตรียมส่วนผสมสำหรับทำแกงเทโพ ดังนี้
  • หมูสามชั้น ขูดขนให้เกลี้ยง ล้างให้สะอาด หั่นหมูเป็นชิ้นพอคำตามขวางให้ติดกันมาทั้งหนัง มัน เนื้อ ขนาดหนาครึ่งเซนติเมตร 
  • ผักบุ้งล้างให้สะอาดตัดโคนทิ้งเสียบ้าง ใบที่เหลืองและช้ำมากปลิดทิ้งไป แล้วหยิบผักบุ้งมาทีละ 5-8 “ตบแล้วบิด” ผักบุ้ง วิธีตบแล้วบิด คือ ให้หยิบผักบุ้งมาทีละ 5-8 ต้น แล้วกำทางโคนให้โผล่ออกมาสัก 2 นิ้ว ด้วยมือที่ไม่ถนัด…ตบเบาๆเข้าหามือที่กำไว้ด้วยมือที่ถนัด ต่อด้วยบิดผักบุ้งเบา…แล้วแช่น้ำหรือใส่ลงหม้อน้ำแกงเลย (บิดลำต้นพอให้มีเสียงกร๊อบแกร๊บเบาๆ อย่าบีบแรงครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นผักบุ้งช้ำ)… “ตบและบิด” ไปเรื่อยๆจนหมดผักบุ้ง
  • ล้างผลมะกรูดให้สะอาด หั่นตามขวางเป็น 2 ส่วน แคะเมล็ดทิ้งให้หมด 
  • มะขามเปียก 10 ฝัก (ถ้าไม่เป็นฝักก็ประมาณ 1 กำมือ คั้นกับ น้ำปลาดี 2 ช้อนโต๊ะ และน้ำสุก 1 แก้ว หรือจะใช้น้ำมะขามเปียกแบบขวดที่มีขายก็ได้ สะดวกดี) 
  • ฉีกใบมะกรูดแช่น้ำไว้ 4-5 ใบ 
4. พร้อมแล้วก็ลงมือแกงได้!...
  • เริ่มด้วยเคี่ยวกะทิ คือเทน้ำกะทิที่เหลือใส่หม้อ แล้วเปิดปากกล่องให้กว้าง…ตวงน้ำสะอาดด้วยกล่องนี้ 2 กล่องใส่ลงในหม้อด้วย…แล้วตั้งไฟให้เดือดเคี่ยวจนแตกมัน 
  • จากนั้นตั้งกระทะให้ร้อนด้วยใช้ไฟกลาง เทน้ำพริกแกงจากเครื่องปั่นลงในกระทะผัดให้หอม ระหว่างน้ำพริกแกงยังไม่ได้ที่…ค่อยๆช้อนหน้ากะทิในหม้อที่เคี่ยวไว้โรยรอบกระทะเป็นระยะ พร้อมคนน้ำพริกแกงไปมาไม่ให้น้ำพริกแกงไหม้
5. เมื่อผัดน้ำพริกแกงได้ที่ใส่เนื้อสามชั้นลงไปผัด ตักกะทิที่เคี่ยวไว้จากหม้อ 5 ทัพพี ใส่ลงในเครื่องปั่นที่เพิ่งเทน้ำพริกแกงออกไป เขย่าล้างให้ทั่ว เทลงในกระทะที่กำลังผัดน้ำพริกแกงกับหมูอยู่

6. เมื่อหมูสุก…เทกะทิจากหม้อลงในกระทะทั้งหมด คนให้เข้ากัน…พอแกงเดือดใส่ผักบุ้งที่แช่น้ำไว้ลงไป ปล่อยให้เดือดนานหน่อย คะเนว่าหมูและผักเปื่อยได้ที่…ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำตาลปี๊บ น้าปลา บีบน้ำมะกรูดที่ผ่าเป็นสองซีกลงในแกงทั้งสองผล และเปลือกมะกรูดก็ใส่ลงไปในแกงด้วย ชิมรสดูครับ ได้ที่แล้วใส่ใบมะกรูด…จากนั้นตักใส่หม้อตั้งไฟให้เดือดอีกครั้ง…ยกลงพร้อมเสิร์ฟ^^

เคล็ดลับเพิ่มเติมทำแกงเทโพให้อร่อย
  • ผักบุ้งนั้นมีอยู่หลายชนิด เวลาจะนำมาปรุงอาหารควรรู้จักเลือกใช้ผักให้ถูก เพราะเป็นส่วนสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามในการทำอาหารให้อร่อย แม้ว่าน้ำแกงเข้มข้นสุดยอดแต่ผักที่ใส่ผิดฝาผิดตัว ก็จะทำให้ความอร่อยของแกงลดลง ที่สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ:                                         เคล็ดลับเลือกผักบุ้งหลากชนิดให้เข้ากับเมนูอาหาร
  • การ “ตบแล้วบิดผักบุ้ง” ใช้ทั้งแกงเทโพและแกงส้ม เพราะจะทำให้ผักบุ้งอมน้ำแกงและเปื่อยเร็ว…เวลาที่เราแกงเทโพแล้วเหลือแต่หมูสามชั้น เราก็สามารถเติมผักบุ้งตบและบิด เพิ่มลงไปได้ แล้วก็เพิ่มเครื่องปรุงรสใหม่ครับ
  • น้ำมะขามเปียกหากคั้นเองควรคั้นกับน้ำปลาและน้ำสะอาดอย่างที่บอก ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นเมื่อล้างมะขามเปียกจนสะอาดใส่ในถ้วยแล้ว ใช้น้ำร้อน (แทนน้ำสะอาด) และน้ำปลาใส่ลงไปจะทำให้คั้นง่ายมาก…ส่วนน้ำมะขามเปียกสำเร็จรูปที่มีขายเปรี้ยวอย่างเดียวแต่ดีตรงที่สะดวกเหลือใช้ก็เก็บในตู้เย็นได้
  • สำหรับน้ำพริก เราจะโขลกหรือปั่นด้วยเครื่องปั่นน้ำผลไม้ก็ได้ตามสะดวกครับ ได้ผลดีเช่นกัน
  • แกงเทโพนั้นสามารถใช้กระทะแกงได้ครับ ส่วนหม้อไว้สำหรับเคี่ยวกะทิและใส่แกงหลังจากที่แกงเสร็จแล้ว…และส่วนกระทะปากกว้างผัดเครื่องแกงและคนแกงให้เข้าที่ได้ง่ายกว่าแกงในหม้อ
  • ผักบุ้งที่ใช้ทำแกงต่างๆ ควรผสมน้ำยาล้างผักหรือผงฟูลงในน้ำที่แช่ผักด้วยนะครับ แล้วล้างให้สะอาด เพราะผักบุ้งอยู่ในน้ำและเราก็ไม่ทราบแหล่งที่มาด้วย 
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตต่ำนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักบุ้ง เพราะผักบุ้งมีคุณสมบัติไปช่วยลดความดันโลหิต จะทำให้ความดันยิ่งต่ำลงไปใหญ่อาจจะก่อให้เกิดอาการเป็นตะคริวได้ง่ายและบ่อยขึ้น ทำให้ร่างกายอ่อนแอ
หวังว่าเนื้อหาที่ zabwer.com ตั้งใจเขียนแบ่งปันนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ และขอให้ทุกท่านเอร็ดอร่อยไปกับทุกเมนูอาหารที่รับประทาน และมีความสุขสนุกสนานไปกับการเข้าครัวทำอาหารกันถ้วนหน้านะครับ (^____^)
07:30